Last updated: 9 มี.ค. 2561 | 3059 จำนวนผู้เข้าชม |
คือการสร้างจิตสำนึกในใจตลอดเวลาว่าเรามีเป้าหมายในชีวิตที่จะเป็นศิลปิน นักออกแบบ ฯลฯ แล้วพยายามเก็บความรู้สึกนั้นไว้ในใจตลอดเวลา บางครั้งเราอาจสร้างฉากขึ้นมาให้ตัวเองเป็นนักศิลปะในแขนงนั้นๆ ก็ได้ เช่นเราชมภาพยนตร์โฆษณาสักเรื่องหนึ่ง แล้วอาจจะลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นคนสร้างเราจะทำแตกต่างกับเขาอย่างไร อะไรที่เขาทำดีแล้ว อะไรที่ยังไม่ถูกใจเรา หรือเมื่อเราดูมิวสิควีดีโอ เราอาจจะลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าเป็นเราเราจะทำยังไงให้มันน่าสนใจกว่านี้ สวยกว่านี้เป็นต้น เรียกว่าเห็นอะไร คิดอะไร พูดอะไรก็ให้เกี่ยวกับศิลปะไปหมด ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าให้แสดงออกบ้าๆ บอๆ กับเพื่อนหรือคนใกล้ชิดนะ แต่มันคือการสร้างจิตฝักใฝ่ขึ้นแล้วเก็บเอาไว้ในใจเพื่อเป็นเชื้อประทุในการเรียนศิลปะของเรานั่นเอง
2. ช่างสังเกต-จด-จำ
อย่ามองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างผ่านๆ แค่ให้รู้ว่าเป็นอะไร นั่นยังไม่พอสำหรับนักศิลปะ-ออกแบบทั้งหลาย เมื่อเรามองดอกกุหลาบเราต้องเห็นทั้งกิ่ง ใบ ดอก หนาม สี และรู้ความหมาย-ประโยชน์ของมัน บางครั้งเราอาจซื้อกุหลาบกำใหญ่จากตลาดซึ่งห่อด้วยหนังสือพิมพ์ เราอาจจะคิดเลยไปได้อีกว่าข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์มันเกี่ยวข้องกับกุหลาบอย่างไร การสังเกตและจดจำเป็นบุคลิกสำคัญของนักออกแบบ การสังเกตจดจำเปรียบเสมือนการกินอาหารของมนุษย์ทำให้เรามีข้อมูลอยู่ในสมองมาก เป็นการสร้างประสบการณ์ และโลกทรรศน์ให้กว้างขวาง และเมื่อเราเรียนหรือทำงานศิลปะสิ่งที่เราสังเกตจดจำเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นงานออกแบบ หรือไอเดียที่ดีจนบางครั้งเราเองยังประหลาดใจ...
3. มีความคิดสร้างสรรค์
โดยทั่วไปมนุษย์มักจะคิดถึงเรื่องต่างๆ ตามเหตุและผลหรือตามข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน สำหรับผู้ที่มีความคิดแปลกแยกออกไปและเป็นความคิดในเชิงบวกผู้นั้นจะถูกยกย่องให้เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะคือความแปลก ใหม่ จริง ดี งาม ดังนั้นผู้ใดที่รู้จักคิดยอกย้อนสลับซับซ้อนและสร้างสรรค์แล้ว ผู้นั้นก็เหมาะที่จะดำเนินอาชีพด้านศิลปะ
4. ใจกว้าง
อาจจะแปลกใจกับข้อนี้สักหน่อยที่ว่า นักศิลปะทั้งหลายที่เรารู้จักมักจะมีอีโก้สูง เชื่อมั่นในความคิดของตนเอง แล้วทำไมจึงบอกว่าผู้ที่จะเรียนศิลปะต้องใจกว้าง คำว่าใจกว้างหมายถึงการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเพื่อนำมาพิจารณา (ไม่ได้หมายความว่าให้เชื่อตามคนอื่น) ใจกว้างที่จะรับสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาในชีวิต เช่น อาหารแปลกๆ ฟังเพลงได้หลากหลายแนว สนใจที่จะรับรู้แนวคิดหรือความเชื่อที่ไม่เคยพบมาก่อน ฯลฯ เหล่านี้จะทำให้เราเป็นนักออกแบบที่มีน้ำหนักในความคิดและคำพูด เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือ
5. มีดวงตาของศิลปิน
เป็นดวงตาที่มองเห็นความงามในทุกสรรพสิ่ง แม้ในความน่าเกลียดหรือน่ากลัว การมองทะลุออกไปให้เห็นเนื้อหาของสิ่งนั้นๆ เช่นเมื่อเราเห็นคนตาย เราอาจค้นหาความงามได้ด้วยดวงตาที่เห็นความหลุดพ้นจากความทุกข์ในโลกของคนๆ นั้น เมื่อเราเห็นกองขยะ เราอาจพบความงามของเมืองที่สะอาด หรือจิตใจที่งดงามของคนกวาดถนนเป็นต้น นี่คือดวงตาของศิลปิน... และดวงตาเช่นนี้เองที่จะชี้ชวนให้ผู้อื่นเห็นความงามที่เขาเห็นได้
6. เป็นคนไวต่อความรู้สึก
รับรู้การสัมผัสได้เร็ว ไม่เฉื่อยชา ความรู้สึกแบบนี้จะช่วยให้เราปิ๊งกับไอเดียแปลกๆ ได้เร็ว คนที่ทำงานศิลปะมักจะพบว่า บางครั้งเจ้าความคิดหรือไอเดียดีๆ มักจะผ่านเข้ามาในสมองอย่างรวดเร็วเช่นกัน ดังนั้นหากเราเป็นคนไวเราจะเก๊ตไอเดียได้ดีกว่าคนอื่น
7. หัดตั้งคำถามและหาคำตอบ
การตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตนเอง จะช่วยให้เราเป็นคนมีเหตุผล ถึงแม้คำตอบเราจะไม่ถูกต้องตามความจริง แต่มันจะเป็นการฝึกให้เรารู้จักใช้สิ่งประกอบต่างๆ มาอ้างอิงสนับสนุนความคิด (ฝัน) ของเรา เช่นคำถามที่ว่าทำไมฝนตกรถจะต้องติด บางคนอาจตอบว่าอุบัติเหตุบ่อยรถจึงติด บางคนอาจตอบว่าคนต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นทำให้รถเคลื่อนตัวช้า แต่บางคนอาจบอกว่าพอฝนตกตำรวจจราจรก็เข้าไปหลบฝนหมดรถก็เลยติด เพราะไม่มีจราจรคอยดูแล เป็นต้น นี่แสดงให้เห็นว่าคำถามเดียวเราอาจมีหลายๆ คำตอบที่ถูกได้ทั้งหมด ศิลปะก็เช่นกัน ทุกคำตอบจะถูกหมด เพียงแต่ว่าคำตอบไหนจะเหมาะสมกับสถานการณ์ใดเท่านั้นเอง
8. เป็นนักฝัน
ข้อนี้สำคัญมาก แค่ฝันเราก็ยังไม่กล้าแล้วจะลงมือทำได้อย่างไร เด็กๆ ชอบมองก้อนเมฆแล้วเห็นเป็นรูปร่างต่างๆ ในใจก็คิดสร้างเรื่องราวไปตามรูปก้อนเมฆที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ความคิดฝันดีๆ ของเรามันจะไม่ศูนย์เปล่า หากเรากล้าฝันสักวันมันจะถูกถ่ายทอดออกมาจากตัวเราในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เหมือนเป็นเพื่อนรักของเราตลอดไป