Last updated: 11 เม.ย 2563 | 2333 จำนวนผู้เข้าชม |
เรียบเรียงโดย : ธารินี จงเจตจำนง (Tarinee jongjetjumnong)
ความหมายของศิลปะ
ศิลปะ หมายถึง ความงามอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ ซึ่งต้องใช้ความพยายามด้วยมือและความคิด (ศิลป์ พีระศรี, 2553: 37)
ศิลปะ หมายถึง การสร้างสรรค์ของศิลปินที่แสดงออกถึงความงาม อารมณ์ ความรู้สึก ความดี และความจริงซึ่งประจักษ์แจ้งขึ้นมาในใจของศิลปินเอง ด้วยภาษาเฉพาะของทัศนศิลป์ (อิทธิพล ตั้งโฉลก, 2550: 11)
สรุป : ศิลปะ หมายถึง การสร้างสรรค์ของมนุษย์ โดยใช้ความพยายาม ความคิด และจินตนาการ เพื่อแสดงออกถึงความงาม อารมณ์ ความรู้สึก ความดี และความจริง ที่เกิดขึ้นจากภายในจิตใจ
องค์ประกอบในงานศิลปะ
องค์ประกอบในงานศิลปะ มี 2 ส่วน คือส่วนที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งได้แก่โครงสร้างทางวัตถุที่มองเห็นได้ หรือรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสส่วนหนึ่ง กับส่วนที่สองที่เป็นการแสดงออกอันเป็นผลที่เกิดจากโครงสร้างทางวัตถุอีกส่วนหนึ่ง เราเรียกองค์ประกอบส่วนแรกว่ารูปทรง (From) หรือองค์ประกอบทางรูปธรรม และเรียกส่วนหลังว่า เนื้อหา (Content) หรือองค์ประกอบทางนามธรรม ดังนั้น องค์ประกอบที่เป็นโครงสร้างหลักของศิลปะ ก็คือ รูปทรง กับ เนื้อหา (ชลูด นิ่มเสมอ, 2557: 30)
องค์ประกอบในงานศิลปะ มีอยู่ 3 ประการ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความประสานกันขึ้นได้ มูลเหล่านี้ได้แก่ “เส้น (Line) , ไคอารอสคูโร (Chiaroscuro) และสี (Color)” (ศิลป์ พีระศรี, 2545: 29)
สรุป : องค์ประกอบในงานศิลปะ คือ โครงสร้างทางวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น และสามารถมองเห็นได้ด้วยประสาทสัมผัสส่วนหนึ่ง ที่เรียกว่ารูปทรง (From) ที่ประกอบด้วย เส้น (Line) , น้ำหนักอ่อนแก่ (Chiaroscuro) และสี (Color) หรือองค์ประกอบทางรูปธรรม และส่วนที่เป็นการแสดงออกอันเป็นผลที่เกิดจากโครงสร้างทางวัตถุอีกส่วนหนึ่งที่เรียกว่า เนื้อหา (Content) หรือองค์ประกอบทางนามธรรม เป็นสิ่งที่ปรากฏออกมาให้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง เพื่อสื่อความหมายไปยังผู้ชม
ศิลปะในกลุ่มวิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ มีอะไรบ้าง
ศิลปะในกลุ่ม วิจิตรศิลป์ (Fine Arts) เป็นผลงานศิลปกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อความงาม เป็นคุณค่าที่สำคัญ ประกอบด้วย
ทัศนศิลป์ (Visual Arts) คือ ศิลปะที่มองเห็นความงามจากรูปลักษณะจึงมีขอบเขตกว้างขวาง
โสตศิลป์ (Audio Arts) คือ วิจิตรศิลป์ ที่สามารถรับรู้ความงามหรือความสุนทรีได้จากการฟัง หรือการได้ยิน หรือจากการอ่านจากตัวอักษรและการ
ร้อง ศิลปะประเภทนี้ไม่มีตัวตนให้แลเห็น ได้แก่ ดนตรี (Music) และวรรณคดี
โสตทัศนศิลป์ (Audio Visual Arts) คือ ศิลปะเกี่ยวกับการแสดง มีการมองเห็นพร้อมกับได้ยินเสียง รับสัมผัสได้ทางตาและหู ได้แก่ นาฏกรรม ภาพยนตร์ โทรทัศน์
ศิลปะในกลุ่ม ประยุกต์ศิลป์ (Applied Arts) เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นจากมนุษย์มุ่งเน้นความงาม ที่ควบคู่ไปกับประโยชน์ใช้สอย เพื่อความสะดวกสบาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ประกอบด้วย ออกแบบนิเทศศิลป์ (Communication Art) , อุตสาหกรรมศิลป์ (Industrial Art) , พาณิชย์ศิลป์ (Commercial Art) , งานตกแต่งภายใน (Interior Design) , งานออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) , มัณฑนศิลป์ (Decorative Art) (สมพร ธุรี, 2553: 2-3)
สรุป : ศิลปะในกลุ่มวิจิตรศิลป์ (Fine Arts) และประยุกต์ศิลป์ (Applied Arts) คือ 2 สาขาหลักของ ศิลปะ โดยทั้งสองกลุ่มนี้เป็นศิลปะที่ประกอบไปด้วย ความงาม การมีคุณค่า ความลงตัว ในการสร้างสรรค์งานทางศิลปะขึ้นมา แต่สิ่งที่ทำให้ 2 กลุ่มนี้แยกออกจากกันอย่างชัดเจน คือ ผลงานศิลปะในกลุ่มของวิจิตรศิลป์ (Fine Arts) ต้องเป็นผลงานศิลปกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อชื่นชมความงาม และมีคุณค่า ส่วนศิลปะในกลุ่มประยุกต์ศิลป์ (Applied Arts) จะต้องเป็นผลงานที่มีคุณค่าทางประโยชน์ใช้สอยทางกายภาพเป็นหลัก แต่จะมีความสวยงามเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยเสมอ
ภาพถ่ายโดย : พริ้มเพรา จิตเป็นธม
ความหมายของทัศนศิลป์และการออกแบบ
ทัศนศิลป์ (Visual Art) หมายถึง ผลงานที่มนุษย์สร้างขึ้นมี 2 มิติ 3 มิติ ที่มีรูปร่าง รูปทรง ประกอบผสมผสานกับทัศนธาตุ เกิดเรื่องราว อารมณ์ ความรู้สึกในผลงานเหล่านั้น เมื่อมองดูก็จะรับรู้ถึงความงามได้ตามนั้น (สมพร ธุรี, 2553: 4)
การออกแบบ (Design) หมายถึง ศาสตร์แห่งความคิด และต้องใช้ศิลป์ร่วมด้วย เป็นการสร้างสรรค์ และการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ เพื่อสนองต่อจุดมุ่งหมาย (วิชาศิลปะและการออกแบบ, 2562: ออนไลน์)
สรุป : ทัศนศิลป์และการออกแบบ จึงหมายถึง การออกแบบผลงานศิลปะที่รับรู้ด้วยการมองเห็นหรือสัมผัสจับต้อง ซึ่งต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างต้นแบบของผลงานให้มีความแปลกใหม่ สามารถสะท้อนความคิดและอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ภายในให้ผู้ชมได้รับรู้ได้(วิจิตรศิลป์) หรือสะท้อนประโยชน์ใช้สอย(ประยุกต์ศิลป์) โดยอาศัยทฤษฎีทางศิลปะและการออกแบบที่เกี่ยวข้องเป็นหลักในการสร้างสรรค์
ประเภทของงานทัศนศิลป์และการออกแบบ
ทัศนศิลป์ แบ่งออกเป็น 6 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1.จิตรกรรม (Painting) 2.ประติมากรรม (Sculpture) 3.สถาปัตยกรรม (Architecture) 4.ภาพพิมพ์ (Graphic) 5.ศิลปะการจัดวาง 6.วรรณกรรม 7.นาฏศิลป์และดนตรี
การออกแบบ แบ่งออกเป็น การออกแบบสถาปัตยกรรม โดยขึ้นกับหลักวิศวกรรม ประโยชน์ใช้สอย และงบประมาณ และความงาม เป็นองค์ประกอบหลัก , การออกแบบภายใน , การออกแบบผลิตภัณฑ์ , การออกแบบเครื่องปั้นดินเผา , การออกแบบเครื่องประดับ , การออกแบบเครื่องแต่งกาย , การออกแบบประยุกต์ศิลปศึกษา การออกแบบนิเทศศิลป์ (ประเสริฐ พิชยะสุนทร, 2557: 143-169)
สรุป : ทัศนศิลป์และการออกแบบ คือ การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะประเภทที่รับรู้ด้วยการเห็นหรือสัมผัส โดยอาศัยความรู้ความเข้าใจ (Knowledge) เกี่ยวกับศิลปะ (Art) ความงาม (Beauty) และทักษะด้านฝีมือ (Skills) ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ (Creative) เมื่อนำมาประยุกต์ (Apply) เข้ากับหลักการของประโยชน์ใช้สอย (Function) ก็สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นในวงการของศิลปะและการออกแบบ ในสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิจิตรศิลป์ (Fine Art) หรือประยุกต์ศิลป์ (Applied Art) เพื่อให้ผลงานศิลปะมีคุณค่ามากกว่าเพียงความสวยงาม และให้ผลงานออกแบบมีความหมายมากกว่าการใช้สอย
เรียบเรียงโดย : ธารินี จงเจตจำนง (Tarinee jongjetjumnong)
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
ชลูด นิ่มเสมอ. (2557). องค์ประกอบของศิลปะ. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์.
ศิลป์ พีระศรี. (2545). บทความ ข้อเขียน และงานศิลปกรรมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี. กรุงเทพฯ: หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ศิลป์ พีระศรี. (2553). ศิลปะสงเคราะห์ พจนานุกรมศัพท์ศิลปะตะวันตก.ปทุมธานี: มูลนิธิศาสตราจารย์ศิลป์พีระศรีอนุสรณ์.
สมพร ธุรี. (2553). การวิเคราะห์ทัศนศิลป์. กรุงเทพฯ: ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น.
อิทธิพล ตั้งโฉลก. (2560). แนวทางการสอนและสร้างสรรค์จิตรกรรมขั้นสูง. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.