เด็ก หรือคนอายุเยอะแล้วจะเริ่มเรียนศิลปะจากตรงไหนดี ?

Last updated: 9 มี.ค. 2561  |  1237 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เด็ก หรือคนอายุเยอะแล้วจะเริ่มเรียนศิลปะจากตรงไหนดี ?

น้องๆ ที่คิดจะเข้ามาเรียนต่อทางด้านศิลปะนั้น ไม่ใช่เห็นว่าเพื่อนๆ เรียนแล้วเท่ก็ตามๆ เขามา หรือไม่รู้จะเรียนอะไรดีก็เลยเลือกเรียนศิลปะ ขอบอกว่าคงยากที่จะประสบความสำเร็จ อย่าว่าแต่สายศิลปะเลย แม้จะเป็นด้านอื่นๆ หากเราเข้าไปเรียนโดยที่ตัวเองไม่ได้รัก ไม่ได้ชอบ ในที่สุดเราเองนั่นแหละที่จะมีความทุกข์เพราะเลือกทางเดินที่ผิด

ดังนั้นก่อนจะเลือกเรียนศิลปะ อยากให้น้องๆ สำรวจตัวเองดูว่าเรารักเราชอบศิลปะจริงๆ หรือเปล่า และเราอยากทำงานด้านนี้จริงหรือไม่ การสำรวจตัวเองนี้ห้ามนำความสามารถทางศิลปะมาเป็นเครื่องวัดเด็ดขาด ขอให้เป็นความรู้สึกล้วนๆ และเพียงแค่เรามั่นใจว่าตัวเองรักศิลปะอย่าแท้จริง อนาคตก็เห็นอยู่รำไรแล้ว

ผมเคยรู้จักคนที่สารภาพว่าตนเองนั้นรักศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ แต่ที่เลือกเรียนทางด้านอื่นเพราะคิดว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์ หรือเรียกว่าไม่มีหัวศิลป์ก็คงได้ แต่แล้วเขากลับไม่มีความสุขกับงานที่ทำ เพราะยังฝังใจกับศิลปะอยู่นั่นเอง

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนชอบศิลปะหลายคนไม่กล้าตัดสินใจเรียน เพราะเขาไม่กล้าที่จะเริ่มคิด ไม่กล้าที่จะเริ่มวาด ไม่กล้าที่จะเริ่มต้น “ผิด” หลายคนอายเวลาวาดรูปออกมาแล้วไม่สวย ผมอยากจะบอกว่าการเรียนศิลปะก็ไม่ต่างอะไรกับการหัดพูดภาษาอังกฤษ ตอนเริ่มต้นก็ต้องพูดผิดๆ ถูกๆ บ้าง แต่เมื่อพูดบ่อยๆ มันจะพัฒนาขึ้นและกลายเป็นคนพูดได้ในที่สุด ที่สำคัญคือคุณกล้าพอที่จะเริ่มต้นหรือเปล่า ถ้ากล้าพอเรามาเริ่มกันเดี๋ยวนี้เลยครับ

การเริ่มต้นเรียนศิลปะ-ออกแบบ ไม่ใช่เริ่มที่คำว่า “ฉันจะเรียนได้ไหมนะ” หรือวิ่งไปหาผู้รู้แล้วถามว่า “หนูควรจะเริ่มต้นตรงไหนดี” แต่ต้องเริ่มจากข้างในตัวคุณก่อน นั่นคือการสร้างนิสัย, บุคลิก, จิตใจของศิลปินขึ้นก่อน เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ศิลปะต่อๆ ไป

การเริ่มต้นนี้ใช้หลัก 9 ประการ

1. มีจิตใจฝักใฝ่ คือการสร้างจิตสำนึกในใจตลอดเวลาว่าเรามีเป้าหมายในชีวิตว่าจะเป็นศิลปิน เป็นนักออกแบบ นักเขียนภาพประกอบ ฯลฯ แล้วพยายามเก็บความรู้สึกนั้นไว้ในใจตลอดเวลา บางครั้งเราอาจจินตนาการให้ตัวเองมีอาชีพนั้นอยู่ก็ได้ เช่นเราชมภาพยนตร์โฆษณาสักเรื่องหนึ่ง แล้วอาจลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นผู้สร้างเราจะทำแตกต่างจากเขาอย่างไร อะไรที่เขาทำดีแล้ว อะไรที่ยังไม่ถูกใจเรา หรือเมื่อเราดูมิวสิควิดิโอ อาจจะลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าเป็นเราจะทำอย่างไรให้มันน่าสนใจกว่านี้, สวยกว่านี้ เป็นต้น เรียกว่า เห็นอะไร คิดอะไร พูดอะไร ก็ให้เกี่ยวกับศิลปะไปหมด

2. ช่างสังเกต - จด - จำ อย่ามองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างผ่านๆ แค่รู้ว่ามันคืออะไร นั่นยังไม่พอสำหรับนักศิลปะ-ออกแบบ เมื่อเรามองดอกกุหลาบเราต้องเห็นทั้งกิ่ง, ก้าน, ใบ, ดอก, หนาม, สี และรู้ถึงความหมายและประโยชน์ของมัน การสังเกตและจดจำเป็นบุคลิกที่สำคัญของนักออกแบบ การสังเกต-จด-จำเปรียบเสมือนการกินอาหาร ทำให้เรามีข้อมูลอยู่ในสมองมาก เป็นการสร้างประสบการณ์และโลกทัศน์ และเมื่อเราเรียนหรือทำงานศิลปะ สิ่งที่เราสังเกตและจดจำเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นงานออกแบบ หรือไอเดียที่ดีและแปลกจนบางครั้งตัวเราเองยังประหลาดใจ

3. ความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ โดยทั่วไปมนุษย์จะคิดเรื่องต่างๆ ตามเหตุและผลหรือตามข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน สำหรับผู้ที่มีความคิดแปลกแยกออกไปและเป็นความคิดในเชิงบวก ผู้นั้นจะถูกยกย่องให้เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะที่ดีต้องมีความแปลก, ใหม่, จริง, ดี, งาม ดังนั้นผู้ใดที่รู้จักคิดยอกย้อนสลับซับซ้อน คิดนอกกรอบ และสร้างสรรค์เขาผู้นั้นเหมาะที่จะทำอาชีพทางด้านศิลปะ

4. ใจกว้าง เท่าที่เราทราบกันมาจะเห็นว่านักศิลปะทั้งหลายมักจะมีความเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองสูง แล้วทำไมผมจึงบอกว่าผู้ที่เรียนศิลปะจะต้องใจกว้าง? คำว่าใจกว้างหมายถึงการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเพื่อนำมาพิจารณา (ไม่ได้หมายความให้เชื่อตามคนอื่น) เปิดใจให้กว้างที่จะรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต เช่นอาหารแปลกๆ ฟังเพลงได้หลายแนว ดูหนังได้หลายแบบ สนใจที่จะรับรู้แนวคิดหรือความเชื่อที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ฯลฯ เหล่านี้จะทำให้เรามีความยืดหยุ่น มีความกล้าที่จะจัดการกับความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่าง ซึ่งจะมีผลทำให้งานของเราแตกต่างจากคนอื่น

5. มีดวงตาของศิลปิน เป็นสายตาที่มองเห็นความงามในทุกสรรพสิ่ง แม้ในความน่าเกลียดหรือน่ากลัว อันนี้ไม่ได้หมายความถึงพวกที่เป็นโรคจิตนะครับ แต่หมายถึงการมองทะลุออกไปให้เห็นเนื้อหาของสิ่งนั้นๆ เช่นเราเห็นคนตาย เราอาจค้นหาความงามได้ด้วยดวงตาที่เห็นความหลุดพ้นได้จากความทุกข์ในโลกของคนๆ นั้น เมื่อเราเห็นกองขยะเราอาจพบความงามของเมืองที่สะอาด หรือจิตใจที่งดงามของคนกวาดถนนเป็นต้น นี่คือดวงตาของศิลปินและดวงตาเช่นนี้เองที่ชี้ชวนให้ผู้อื่นเห็นความงามที่เขาเห็นได้

6. เป็นคนไวต่อความรู้สึก คิดคล่อง สมองไว รับรู้การสัมผัสได้เร็ว ไม่เฉื่อยชา ความรู้สึกเหล่านี้จะช่วยให้เราปิ๊งกับไอเดียแปลกๆ ได้เร็ว คนทำงานศิลปะมักจะพบว่าบางครั้งความคิดหรือไอเดียดีๆ มักจะผ่านเข้ามาในสมองอย่างฉับพลัน ดังนั้นหากเราเป็นคนมีความรู้สึกไวเราจะสร้างไอเดียใหม่ๆ ได้ดีกว่าคนอื่น

7. หัดตั้งคำถาม แล้วหาคำตอบ การตั้งคำถามแล้วหาคำตอบด้วยตนเอง จะช่วยทำให้เราเป็นคนมีเหตุผล และรู้จักเชื่อมโยงข้อมูล ถึงแม้คำตอบของเราอาจจะไม่ถูกต้อง แต่จะเป็นการฝึกให้เราใช้ข้อมูลต่างๆ มาประกอบการอ้างอิงสนับสนุนความคิด เช่นคำถามที่ว่าทำไมฝนตกรถจะต้องติด บางคนอาจตอบว่าเกิดอุบัติเหตุบ่อยรถจึงติด บางคนอาจตอบว่าต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นทำให้รถเคลื่อนตัวช้า แต่บางคนอาจตอบว่าพอฝนตกตำรวจก็เข้าไปหลบฝนกันหมดรถเลยติด เพราะไม่มีจราจรคอยดูแล เป็นต้น นี่แสดงว่าคำถามเดียวอาจมีหลายคำตอบที่ถูกต้องได้ทั้งหมด ศิลปะก็เช่นกันทุกคำตอบจะถูกหมด เพียงแต่ว่าคำตอบไหนจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ใดเท่านั้นเอง

8. เป็นนักฝัน ข้อนี้สำคัญมาก แค่ฝันเรายังไม่กล้า แล้วเราจะลงมือทำได้อย่างไร ความคิดฝันดีๆ ของเราจะไม่สูญเปล่าหากเรากล้าฝัน สักวันมันจะถูกถ่ายทอดออกมาจากตัวเราไม่ว่ารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และมันจะเป็นแรงกระตุ้นให้เราสร้างสรรค์ศิลปะได้ตลอดไป

9. เป็นนักแอ๊คชั่น นั่นหมายถึงว่า นิสัยทั้ง 8 ประการของน้องๆ จะไม่เกิดประโยขน์เลยหากเราไม่ “ลงมือกระทำ” ดังนั้นข้อสุดท้ายคือเราต้อง action คือเปลี่ยนทุกสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นให้เป็นการกระทำ

Powered by MakeWebEasy.com